การใช้สื่อ

การใช้สื่อ

สื่อและวัสดุอุปกรณ์การสอนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การเรียนการสอนดำเนินไปด้วยดี การสอนที่มีการใช้อุปกรณ์ประกอบการสอนนอกจากจะทำให้นักเรียนเห็นความเป็นรูปธรรมของสิ่งที่ครูสอนและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจของนักเรียนให้ชัดเจนและง่ายขึ้นแล้ว การสอนที่มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอนยังเพิ่มบรรยากาศของการสอนให้น่าสนใจ เนื่องจากมีการแปรเปลี่ยนสิ่งเร้าหงายๆอย่าง และครูยังสามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆกระตุ้นให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างสนุกอีกด้วย
ความหมาย
                ความหมายของคำว่า สื่อ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช 2542 มีความหมายหลากหลาย แต่ความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน หมายถึง ติดต่อให้ถึง เช่นสื่อความหมายฉะนั้น สื่อการสอนก็หมายถึง สิ่งที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ซึ่งก็คือครูกับนักเรียนติดต่อถึงกัน เพื่อสื่อความหมายของสิ่งที่ต้องการจะสอนหรือให้นักเรียนเกิดความรู้
                ชาญชัย  ยมดิษฐ์ (2548:417) อธิบายว่า สื่อการเรียนการสอนเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความรู้ ความเข้าใจระหว่างสารที่ครูส่งไปยังนักเรียน ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่ครูกำหนดไว้ โดยสื่อที่ใช้สอนเรียกว่า สื่อการเรียนการสอน ก็แปลว่า นักเรียนก็เรียนรู้ ครูก็ใช้สอนด้วยนั่นเอง
สิริพัชร์   เจษฎาวิโรจน์(2550:71) กล่าวว่า สื่อการเรียนรู้ หมายถึง สิ่งใดๆก็ตามที่เป็นเครื่องช่วยถ่ายทอดความรู้จากบทเรียนไปสู่ผู้เรียนซึ่งจะช่วยทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปได้ว่า เทคนิคการใช้สื่อการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆที่ครูใช้ในการดำเนินการกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สิ่งใดก็ตามที่บรรลุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในรูปของวัสดุอุปกรณ์ และเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และที่สำคัญนักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของบทเรียน







วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน
                วัตถุประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแต่ละครั้งก็เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ มีทักษะและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นหากมีสิ่งใดที่ช่วยให้วัตถุประสงค์ของการสอนดังกล่าวบรรลุผลได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น ก็น่าจะนำมาใช้ ซึ่งสิ่งที่กำลังกล่าวถึงก็คือสื่อการสอน นั่นเอง
เฉลิม มลิลา (2526:118) กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน ซึ่งมีหลายประการ  ดังนี้
                1.เพื่อให้ประสบการณ์ตรงและเป็นจริงแก่นักเรียน
                2.เพื่อให้นักเรียนเรียนได้โดยง่ายและสะดวกขึ้น
                3.เพื่อเร้านักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียนอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนและตลอดเวลา
                4.เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน
                5. เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะความสามารถ เนื่องจากได้เรียนรู้ด้วยการลงมือทดลองและฝึกปฏิบัติ
                6.เพื่อให้นักเรียนกล้าแสดงออกทางความคิด และการแสดงออกอย่างสมควร
                7.เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                8.เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนการสอน
                9.เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนครู
10.เพื่อให้ประหยัดเวลา วัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายและบุคลากร ในขณะเดียวกัน ทำให้จำนวนนักเรียนจำนวนมากเกิดการเรียนรู้อย่างคุ้มค่า
สรุปได้ว่าวัตถุประสงค์ของการใช้สื่อการสอน มีหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่1)เพื่อให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น 2)เพื่อเร้านักเรียนให้มีความสนใจในบทเรียนอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนและตลอดเวลา 3)เพื่อให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 4) เพื่อให้ประหยัดเวลา วัสดุอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายและบุคลากร     และ 5)ทำให้จำนวนนักเรียนจำนวนมากเกิดการเรียนรู้อย่างคุ้มค่า
ประโยชน์ของการใช้สื่อ
                สื่อ วัสดุ และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนนั้นจึงมีคุณค่ายิ่งโดยแบ่งประโยชน์ต่อนักเรียนและประโยชน์ต่อครู ดังนี้
ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อนักเรียน
1.ช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน การที่นักเรียนได้รู้ เห็นสภาพของปัญหาต่างๆได้ยินหรือได้สัมผัสโดยการใช้สื่อการสอนประเภทต่างๆ เช่น จากภาพยนตร์ รูปภาพจะสามารถพัฒนาความคิดของนักเรียนทำให้มีความคิดกว้างไกลมากขึ้น
2.เพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่นักเรียน ทำให้นักเรียนมีประสบการณ์มากขึ้นเนื่องจากได้เห็นของจริงเนื่องจากสิ่งเห็นของจริงได้ยินหรือได้สัมผัส
3.กระตุ้นหรือเร้าความสนใจของนักเรียน ซึ่งสิ่งต่างๆที่นำมาเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ทำให้นักเรียนสนใจการเรียนมากขึ้น มีความกระตือรือร้น 
4. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้จากวัตถุที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนได้สร้างแนวความคิดด้วยตนเอง
5. ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้งายขึ้นและสามารถจดจำได้นาน  
6. ให้ประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง
7. นำประสบการณ์นอกห้องเรียนมาให้นักเรียนศึกษาในห้องเรียนได้
ประโยชน์ของสื่อการสอนที่มีต่อครู
1.ช่วยสร้างบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ที่ดี น่าสนใจ สนุกสนาน มีความน่าเชื่อถือ
2.ช่วยแบ่งเบาภาระในการเรียนรู้
3.ช่วยกระตุ้นให้ครูเตรียม ผลิต หรือพัฒนาสื่อใหม่ๆ
4.ช่วยแก้ปัญหาและทดแทนสิ่งที่ครูไม่ถนัด
5.ช่วยให้ครูจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ
6.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนโดยตรง
7.ช่วยให้ครูมีปฏิสัมพันธ์และติดตามดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคล
8.ช่วยให้ครูวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้โดยตรงจุดมุ่งหมายในทุกขั้นตอน
9.ช่วยให้ครูสามารถนำประสบการณจากแหลางการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมายจากภ่ยนอกห้องเรียนมาเสนอต่อนักเรียน
ประเภทของสื่อการสอน
สื่อการสอนมีหลายประเภท และมีการจำแนกประเภทของสื่อไว้ดังนี้
สื่อสิ่งพิมพ์
สื่อสิ่งพิมพ์ มีความหมายว่า สิ่งที่พิมพ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดาษหรือวัตถุใด ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ อันเกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือน ต้นฉบับขึ้นหลายสำเนาในปริมาณมากเพื่อเป็นสิ่งที่ทำการติดต่อ หรือชักนำให้บุคคลอื่นได้เห็นหรือทราบ ข้อความต่าง ๆ
ประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์
       สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ
              - หนังสือสารคดี ตำรา แบบเรียน
             - หนังสือบันเทิงคดี
          สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร
               - หนังสือพิมพ์ (Newspapers) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอเรื่องราว ข่าวสารภาพและความคิดเห็น ในลักษณะของแผ่นพิมพ์ แผ่นใหญ่ ที่ใช้วิธีการพับรวมกัน ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดนี้ ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ทั้งลักษณะ หนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ และรายเดือน
                - วารสาร, นิตยสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอสาระ ข่าว ความบันเทิง ที่มีรูปแบบการนำเสนอ ที่โดดเด่น สะดุดตา และสร้างความสนใจให้กับผู้อ่าน ทั้งนี้การผลิตนั้น มีการ กำหนดระยะเวลาการออกเผยแพร่ที่แน่นอน ทั้งลักษณะวารสาร, นิตยสารรายปักษ์ (15 วัน) และ รายเดือน
               - จุลสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นแบบไม่มุ่งหวังผลกำไร เป็นแบบให้เปล่าโดยให้ผู้อ่านได้ศึกษาหาความรู้ มีกำหนดการออกเผยแพร่เป็นครั้ง ๆ หรือลำดับต่าง ๆ ในวาระพิเศษ
               
สิ่งพิมพ์โฆษณา
                         - โบร์ชัวร์ (Brochure) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ เย็บติดกันเป็นเล่ม
จำนวน 8 หน้าเป็น อย่างน้อย มีปกหน้าและปกหลัง ซึ่งในการแสดงเนื้อหาจะเกี่ยวกับโฆษณาสินค้า
                         - ใบปลิว (Leaflet, Handbill) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ใบเดียว ที่เน้นการประกาศหรือโฆษณา มักมีขนาด A4 เพื่อง่ายในการแจกจ่าย ลักษณะการแสดงเนื้อหาเป็นข้อความที่ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย
                         - แผ่นพับ (Folder) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยเน้นการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้น
เป็นเนื้อหา ที่สรุปใจความสำคัญ ลักษณะมีการพับเป็นรูปเล่มต่าง ๆ
                         - ใบปิด (Poster) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา โดยใช้ปิดตามสถานที่ต่าง ๆ มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งเน้นการนำเสนออย่างโดดเด่น ดึงดูดความสนใจ
           
สิ่งพิมพ์เพื่อการบรรจุภัณฑ์
                 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์การค้าต่าง ๆ แยกเป็นสิ่งพิมพ์หลัก ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่ใช้ปิดรอบขวด หรือ กระป๋องผลิตภัณฑ์การค้า สิ่งพิมพ์รอง ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่เป็นกล่องบรรจุ หรือลัง
    สิ่งพิมพ์มีค่า
                 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเป็นกำหนดตามกฎหมาย เช่น ธนาณัติ, บัตรเครดิต, เช็คธนาคาร, ตั๋วแลกเงิน, หนังสือเดินทาง, โฉนด เป็นต้น
           สิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษ
                 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์มีการผลิตขึ้นตามลักษณะพิเศษแล้วแต่การใช้งาน ได้แก่ นามบัตร, บัตรอวยพร, ปฎิทิน,บัตรเชิญ,ใบส่งของ,ใบเสร็จรับเงิน,สิ่งพิมพ์บนแก้ว ,สิ่งพิมพ์บนผ้า เป็นต้น
           สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์
                 เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้งานในคอมพิวเตอร์ หรือระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ได้แก่ Document Formats, E-book for Palm/PDA เป็นต้น
สื่อบุคคล
สื่อบุคคล หมายถึงตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ สู่บุคคลอื่น สื่อบุคคลจัดได้ว่าเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงในการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโน้มน้าวจิตใจ เนื่องจากติดต่อกับผู้รับสารโดยตรง ส่วนใหญ่อาศัยการพูดในลักษณะต่างๆ เช่น การสนทนาพบปะพูดคุย การประชุม การสอน การให้สัมภาษณ์ การโต้วาที การอภิปราย การปาฐกถา และการพูดในโอกาสพิเศษ ต่างๆ แต่สื่อบุคคลก็มีข้อจำกัดคือ ในกรณีที่เนื้อหาเป็นเรื่องซับซ้อน การใช้คำพูดอย่างเดียวอาจไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ทันที และเป็นสื่อที่ไม่ถาวร ยากแก่การตรวจสอบและอ้างอิง นอกจากจะมีผู้บันทึกคำพูดนั้นๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือบันทึกเสียงเอาไว้

สื่อการสอนประเภทวัสดุ
สื่อการสอนประเภทวัสดุ เช่น สี กระดาน ชอล์ค ภาพ เปลือกหอย หนังสือพิมพ์ เป็นต้น
                สื่อการสอนประเภทอุปกรณ์
สื่อการสอนประเภทอุปกรณ์ คือสิ่งที่เป็นเครื่องมือ วิทยุ เครื่องฉายภาพวีดีโอ กระดานดำ ป้ายนิเทศ เป็นต้น
                สื่อการสอนประเภทวิธีการ กระบวนการจัดกิจกรรม
สื่อการสอนประเภทวิธีการ กระบวนการจัดกิจกรรม ได้แก่ การสาธิต การทดลอง เล่นเกม เล่นบทบาทสมมุติ จัดสถานการณ์จำลอง เช่น การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน
               กรวยประสบการณ์ของเอดการ์  เดล  ซึ่งจำแนกประสบการณ์ทางการศึกษา เรียงลำดับจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมไปสู่ประสบการณ์ที่เป็นนามธรรม โดยยึดหลักว่า คนเราสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีและเร็วกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมซึ่งเรียกว่า "กรวยแห่งประสบการณ์" (Cone of Experiences) ซึ่งมีทั้งหมด 10 ขั้น   
 โรเบิร์ต อี. ดี. ดีฟเฟอร์ แบ่งประเภทของสื่อการสอน ดังนี้
วัสดุที่ไม่ต้องฉาย ได้แก่ รูปภาพ แผนภูมิ กราฟ ของจริง ของตัวอย่าง หุ่นจำลอง แผนที่ กระดาษสาธิต ลูกโลก กระดานชอล์ค กระดานนิเทศ กระดานแม่เหล็ก การแสดงบทบาท นิทรรศการ การสาธิต และการทดลองเป็นต้น
1.             วัสดุฉายและเครื่องฉาย ได้แก่ สไลด์ ฟิล์มสตริป ภาพโปร่งใส ภาพทึบ ภาพยนตร์ และเครื่องฉายต่าง ๆ เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายสไลด์ และฟิล์มสตริป เครื่องฉายกระจกภาพ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องฉายภาพทึบแสง เครื่องฉายภาพจุลทัศน์ เป็นต้น
2.             โสตวัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ แผ่นเสียง เครื่องเล่นจานเสียง เทป เครื่องบันทึกเสียง เครื่องขยายเสียง และวิทยุ เป็นต้น
หลักและเทคนิคการใช้สื่อการสอน
                ในการใช้สื่อสำหรับการเรียนการสอนนั้น ครูต้องมีทักษะหลายประการ ต้องสามารถเลือกสื่อได้เหมาะสม เตรียมสื่อได้ดี ใช้สื่อได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการใช้สื่อในการเรียนการสอนให้เกิดผลดีและมีประสิทธิภาพ ครูจำเป็นต้องรู้หลักและเทคนิคในการใช้สื่อการเรียนการสอนในขั้นตอนต่อไปนี้
1.การเลือกสื่อการสอน
2.การเตรียมสื่อการสอน
3.การใช้สื่อการสอน
4.การจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการใช้สื่อการเรียนการสอน
5.การประเมินผลการสอน
การเลือกสื่อการสอน
เทคนิคการเลือกสื่อ
อาภรณ์  ใจเที่ยง (2546:189-190) ได้ให้คำแนะนำในการเลือกใช้สื่อการสอน ดังนี้
1.เลือกใช้สื่อการสอนที่สัมพันธ์กับบทเรียนและตรงเป้าหมายกับเรื่องที่สอน
2.เลือกสื่อที่มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย น่าสนใจ และเป็นสื่อที่จะให้ผลต่อการเรียนการสอนมากที่สุด
3.เป็นสื่อที่เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น และประสบการณ์ของนักเรียน
4.สื่อนั้นควรสะดวกในการใช้
5.ต้องเป็นสื่อที่มีคุณภาพ
6.ราคาไม่แพง
7.พิจารณาเลือกซื้อในปริมาณที่พอเหมาะ
8.เลือกสื่อการสอนที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้เรียน
9.เลือกใช้สื่อที่มีสีสันดึงดูดความสนใจนักเรียน
10.ควรเลือกใช้สิ่งที่แปลกจากสิ่งที่นักเรียนเคยเห็นจำเจแล้ว
การเตรียมสื่อการสอน
จำเริญ  ชูช่วยสุวรรณ(2540:180) กล่าวว่า ในการเตรียมการใช้สื่อการสอนครูควรได้เตรียมนักเรียนและสถานที่ดังนี้
1.เตรียมนักเรียน นักเรียนควรได้รับการเตรียมดังต่อไปนี้
1.1 อธิบายให้ผู้เรียนทราบล่วงหน้าว่า จะมีส่วนร่วมในสื่ออย่างไร
1.2 เตรียมบทเรียนร่วมกับครู วางแผนจะใช้สื่ออย่างไร
1.3 อธิบายให้ผู้เรียนรู้จักสรุปหลังการใช้อุปกรณ์
2. เตรียมสถานที่ ครูควรเตรียมสถานที่ในเรื่องต่อไปนี้
2.1 เตรียมจัดชั้นเรียน  เพื่อสะดวกในการใช้สื่อ
2.2 เตรียมระบบแสง เสียง
2.3 เตรียมสถานที่ให้อากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก
สรุปได้ว่า ก่อนการใช้สื่อ ครูควรเตรียมสื่อเอาไว้ให้พร้อม และควรตรวจสภาพและศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อที่นำมาใช้เพื่อความคล่องตัวในขณะสอน
การใช้สื่อ
ในการใช้สื่อ ครูควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับขั้นตอนของการสอนและวัตถุประสงค์ของบทเรียน ดังนี้
1. ใช้สื่อการสอนในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ทั้งนี้เพื่อเร้าผู้เรียนให้เกิดความสนใจ และเปลี่ยนพฤติกรรมในเบื้องต้น โดยปรับตนเองให้พร้อมที่จะเรียนรู้บทเรียนใหม่ ซึ่งอาจกระทำได้โดยการรื้อฟื้นความรู้เดิม (assimilation) หรือขยายความรู้เดิม (accommodation) เพื่อนำมาใช้ให้ประสานกันกับความรู้ใหม่ ซึ่งจะเรียนในขั้นต่อไป
2. ใช้สื่อการสอนในขั้นประกอบการสอนหรือขั้นดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้ความกระจ่างในเนื้อหาที่เรียนหรือทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและเข้าใจข้อเท็จจริงในเนื้อหาอย่างแท้จริงในรูปของการเกิด Concept เข้าใจหลักการสำคัญ และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในแนวทางที่ดีขึ้นตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ได้กำหนดไว้
3. ใช้สื่อการสอนเพื่อขยายขอบเขตความรู้ของผู้เรียนให้ก้าวหน้าและเจริญงอกงามทั้งในด้านความกว้างและความลึกของภูมิปัญญา ซึ่งเป็นผลของการเรียนอย่างแท้จริง
4. ใช้สื่อการสอนเพื่อย่อสรุปเนื้อหาสำคัญของบทเรียนเกิดเป็น Concept ในเนื้อหาแต่ละเรื่อง
5. ใช้สื่อการสอนเพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีการฝึกและพัฒนาตนเองให้รู้จักขั้นตอนและมีความคิดสร้างสรรค์
เทคนิคการใช้สื่อ
การใช้สื่อการสอนตามแผนที่กำหนดไว้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอน ตามวิธีการและเวลาที่กำหนดไว้ สื่อบางชนิดใช้ในการนำเข้าสู่บทเรียน บางชนิดใช้ประกอบคำอธิบาย บางชนิดใช้สรุป บางชนิดใช้ในการประเมินผล จึงควรคำนึงถึงเทคนิคการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ต่อไปก็จะเป็นการจัดสภาพสื่อดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือการควบคุมชั้นเรียนให้มีระเบียบวินัย พยายามให้ทุกคนมองเห็นได้ชัดเจน ให้เวลาเพื่อทำความเข้าใจพอสมควรหยุดบรรยายเมื่อมีเสียงรบกวนจากภายนอก เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อให้โอกาสแก่ผู้เรียนได้ซักถามเมื่อมีปัญหาข้อข้องใจ
  เพื่อให้การใช้สื่อมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน ครูต้องคำนึงถึงเทคนิคต่างๆ ที่สำคัญ ในการใช้สื่อดังนี้
1. ใช้สื่อการเรียนการสอนตามลำดับ
2. แสดงสื่อให้เห็นชัดเจนทั่วทั้งห้อง
3. อธิบายโดยใช้ภาษาง่ายๆ
4. แสดงสื่อตามลำดับขั้นตอน
5.คำนึงถึงความปลอดภัย
6.ใช้สื่อด้วยความคล่องแคล่ว
7.การชี้สื่อควรใช้ไม้ยาวปลายแหลม
8.เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม
                การจัดกิจกรรมต่อเนื่องจากการใช้สื่อการสอน
1.เพื่อเป็นการสรุปและทบทวนความรู้ของนักเรียนที่ได้รับจากการศึกษา
2.เพื่อเป็นการขยายความรู้ของนักเรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ประเมินผลกระบวนการเรียนการ ( Evaluation )
หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้สอนทราบว่า การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด  สิ่งที่ต้องประเมินได้แก่       การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใดการประเมินสื่อและวิธีการเรียนการสอน         เพื่อให้ทราบว่าสื่อและวิธีการสอนที่ใช้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดต้องปรับปรุงแก้ไขหรือไม่ช่วยให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือไม่          การประเมินผลสื่อการเรียนการสอนควรให้ครอบคลุมด้านความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนการสอน ด้านคุณภาพของสื่อ  เช่น ขนาด รูปร่าง สี ความชัดเจนของสื่อ
                การประเมินผลกระบวนการเรียนการสอนจะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการสอนและการใช้สื่อการเรียนในครั้งต่อ ๆ ไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สิ่งที่ครูควรปฏิบัติในการฝึกเทคนิคการใช้สื่อการสอน
ประดินันท์  อุปรมัย  (2540:176-177) กล่าวว่า เพื่อให้มีทักษะความชำนาญในการใช้สื่อการสอน ครูควรได้ปฏิบัติดังนี้
1.ศึกษาหลักในการสร้างหรือเลือกวัสดุอุปกรณ์การสอนให้เหมาะสมกับวัยและความสามารถของนักเรียน
2 .หาโอกาสเข้าสังเกตการณ์สอนของเพื่อนครูด้วยกัน
3. หาโอกาสเข้าสังเกตการณ์สอนของครูที่ปะสบความสำเร็จในการสอน

สรุป
เทคนิคการใช้สื่อการสอน หมายถึง กลวิธีต่างๆที่ครูใช้ในการดำเนินการกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้สิ่งใดก็ตามที่บรรลุเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนในรูปของวัสดุอุปกรณ์ และเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้กิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และที่สำคัญนักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของบทเรียนเพื่อให้การสอนเกิดผลดี ครูควรมีความรู้เกี่ยวกับการรับรู้ของเด็กแต่ละวัย ซึ่งมีความแตกต่างกัน
ก่อนการใช้สื่อ ครูควรเตรียมสื่อเอาไว้ให้พร้อม และควรตรวจสภาพและศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อที่นำมาใช้เพื่อความคล่องตัวในขณะสอน
ในการใช้สื่อ ครูควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับขั้นตอนของการสอนและวัตถุประสงค์ของบทเรียน ดังนี้
1. ใช้สื่อการสอนในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน 2. ใช้สื่อการสอนในขั้นประกอบการสอนหรือขั้นดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อช่วยให้ความกระจ่างในเนื้อหาที่เรียนหรือทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและเข้าใจข้อเท็จจริงในเนื้อหาอย่างแท้จริง 3. ใช้สื่อการสอนเพื่อขยายขอบเขตความรู้ของผู้เรียนให้ก้าวหน้าและเจริญงอกงามทั้งในด้านความกว้างและความลึกของภูมิปัญญา ซึ่งเป็นผลของการเรียนอย่างแท้จริง
4. ใช้สื่อการสอนเพื่อย่อสรุปเนื้อหาสำคัญของบทเรียนเกิดเป็น Concept ในเนื้อหาแต่ละเรื่อง
5. ใช้สื่อการสอนเพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีการฝึกและพัฒนาตนเองให้รู้จักขั้นตอนและมีความคิดสร้างสรรค์
หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้สอนทราบว่า การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด  สิ่งที่ต้องประเมินได้แก่ การประเมินผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใดการประเมินสื่อและวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้ทราบว่าสื่อและวิธีการสอนที่ใช้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

กำลังสร้าง

http://www.youtube.com/watch?v=39ec5P7UJoU


http://www.youtube.com/watch?v=coe2C2SbyNo