เขียนกระดาน

กำลังสร้าง
เทคนิคการใช้กระดานดำ
กระดานดำเป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการเรียนการสอน แม้ว่าปัจจุบันจะมีอุปกรณ์ที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครูในการเสนอเนื้อหาสาระของบทเรียนและการจดกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ เช่น เครื่องฉายภาพโปร่งแสง หรือเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (overhead projector) ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่รู้จักกันโดยทั่วไป เครื่องแอลซีดีโปรเจคเตอร์ (LCD projector) ซึ่งสามารถขยายภาพจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องวิซวลไลเซอร์ (visualizer) เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เครื่องเล่นซีดีและดีวีดีได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนไดเห็นภาพที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามอุปกรณ์เหล่านี้ยังมีราคาค่อนข้างสูง โรงเรียนส่วนหนึ่งยังคงจำเป็นต้องใช้กระดานดำ กระดานสีเขียว หรือไวท์บอร์ด ฉะนั้น การเรียนรู้การเขียนกระดานดำ จึงจำเป็นที่ครูยังคงต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ เพื่อทักษะการสอนที่ดีต่อไป
เสริมศรี ลักษณศิริ (2540: 329) กล่าวว่า กระดานดำเป็นสื่อการเรียนการสอนอย่างหนึ่งที่ครูและนกเรียนคุ้นเคย นับว่าเป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียนทั้งชั้นกระดานดำมีประโยชน์อย่างกว้างขวางสามารถใช้ได้ทุกขั้นตอนของการสอนเพียงแต่ครูเลือกใช้ให้เหมาะสม ดังนั้นจึงควรใช้กระดานดำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ความหมาย
            คำว่า กระดานดำ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 หมายถึงกระดานใหญ่มักทาสีดำใช้อุปกรณ์การเรียนการสอน (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546: 32)
                อินทิรา บุญยาทร (2542: 266) กล่าวว่า การใช้กระดานดำ หมายถึง การที่ครูใช้กระดานดำเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนให้นักเรียนเกิดความเข้าใจ ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ จะใช้ในช่วงเวลาของการสอน เช่น เขียนเรื่องราวของบทเรียน เขียนข้อความ วาดภาพ และติดอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มตั้งแต่เข้าสู่บทเรียน ขั้นสอน และขั้นสรุปบทเรียน
                จากความหมายดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า เทคนิคการใช้กระดานดำ หมายถึง กลวิธีในการเขียนหรือวาดตัวอักษร ตัวเลข ภาพ สัญลักษณ์ หรือลายเส้นต่างๆ บนกระดานที่ใช้เป็นอุปกรณ์การสอนได้อย่างมีระเบียบ สะอาด เรียบร้อย ดูแล้วสวยงามและเข้าใจง่าย






วัตถุประสงค์ของการใช้กระดานดำ
                การใช้กระดานดำมีวัตถุประสงค์โดยทั่วไปคือ เป็นสื่อที่เสริมให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น นอกจากนี้มีวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้แก่
1.ใช้เพื่อประกอบการอธิบาย สรุป และทบทวนบทเรียน
2.ใช้เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความรู้ ความคิดเห็น และศักยภาพด้านอื่นๆ เช่น การวาดรูปบนกระดาน
3.ใช้เพื่อเสริมการใช้สื่ออุปกรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องแอลซีดีโปรเจคเตอร์ และเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เป็นต้น
4.ใช้เพื่อประกอบการจัดกิจกรรมต่างๆ ในชั้นเรียน เช่น เล่นเกม ติดภาพ เป็นต้น
สรุปได้ว่า ครูสามารถใช้กระดานดำเพื่อประกอบการเรียนการอธิบาย สรุปและทบทวนบทเรียน รวมทั้งให้นักเรียนได้แสดงความรู้ ทักษะ และใช้กระดานดำเพื่อเสริมการใช้อุปกรณ์อื่นๆ และกิจกรรมต่างๆ

ประโยชน์ของกระดานดำ
            เสริมศรี ลักษณศิริ (2540: 129) ได้กล่าวถึง ประโยชน์ของกระดานดำไว้ 3 ประการ ดังนี้
1.ใช้บันทึกข้อความสำคัญในการเรียนการสอนได้ทุกขั้นตอน
2.ใช้บันทึกข้อเสนอแนะ แนวคิด ทั้งครูและนักเรียน
3.ใช้ในการแข่งขันหรือเล่นเกม เช่น แข่งขันการเขียน สะกดคำ เป็นต้น
อาภรณ์ ใจเที่ยง (2546: 193) อธิบายถึง ประโยชน์ของกระดานดำว่า มีดังต่อไปนี้
1.ใช้ประกอบสอน การอธิบาย การทดสอบ สรุป และทบทวนบทเรียน
2.ใช้ร่วมกับโสตทัศนวัสดุอื่นๆ ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น
3.ใช้แสดงข้อเท็จจริง แนวคิด และกระบวนการต่างๆ
4.ใช้แสดงศัพท์ใหม่ๆ คำจำกัดความ กฎ และคำนิยามให้นักเรียนเข้าใจได้ดี
5. เหมาะต่อการส่งเสริมให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมในการสาธิตและการอธิบายเนื้อหาวิชาแก่เพื่อนร่วมชั้น

คุณสมบัติเด่นของกระดานดำ
            กระดานดำมีคุณลักษณะเด่นหลายประการดังที่ อาภรณ์ ใจเที่ยง (2546: 192) กล่าวถึงคุณสมบัติเด่นของกระดานดำไว้ ดังนี้
1.สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกโอกาส
2.ไม่ชำรุดเสียหายได้ง่าย
3.นักเรียนสามรถมองเห็นได้ง่ายทั้งชั้น
4.เขียนและลบได้ง่าย
5.นำเสนอข้อคิดใหม่ได้ทันที
6.ใช้ได้ทั้งครูและนักเรียน

ความจำเป็นของการเขียนกระดานดำสำหรับการสอนของครู
 กระดานดำเป็นที่สำหรับบันทึกข้อความสำคัญที่ครูสอน รวมทั้งความรู้ของนักเรียน และเป็นจุดรวมความสนใจของนักเรียนทั้งห้อง การเขียนกระดานดำให้ถูกต้องตามอักขรวิธีของการเขียนและการสะกด เขียนให้อยู่ในแนวระดับและเขียนให้เป็นไปโดยลำดับอย่างมีระเบียบแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่โดยความจริงครูที่ไม่เคยฝึกเขียนกระดานดำ และขาดทักษะในการเขียนกระดานดำมักไม่เขียนกระดานดำให้มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นได้ ฉะนั้น ครูต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนในเรื่องการเขียนตัวอักษรและการใช้กระดานดำ

สิ่งที่ครูควรทราบเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการใช้กระดานดำ
            ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อ การวัดผลและประเมินผลต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยาทั้งสิ้น โดยเฉพาะจิตวิทยาการศึกษา แม้แต่ส่วนย่อยๆ อย่างการเขียนกระดานดำก็ต้องคำนึงถึงความรู้ทางจิตวิทยาเช่นเดียวกัน
                ประดินันท์ อุปรมัย (2540:171) กล่าวว่า ความรู้ทางจิตวิทยาที่ครูควรทราบเพื่อการใช้กระดานดำให้เกิดประสิทธิผล มีดังนี้
                1. การปฏิบัติตนเป็นตัวแบบของครูมีผลต่อการเลียนแบบของนักเรียนและมีผลต่อทักษะการเขียนกระดานดำในแง่ที่ว่า ถ้าถือว่าการเขียนหนังสือให้ถูกต้องตามอักขระวิธีการเขียนและการสะกด เขียนให้เป็นระเบียบและสวยงามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน ก็ต้องถือว่าทักษะการเขียนกระดานดำของครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสอนของครูด้วย
                2. การจำของบุคคล บุคคลจะจำความรู้ที่ต้องการได้ดีถ้าความรู้นั้นได้รับการจัดเข้าเป็นระเบียบหรือเสนอในรูปความสำคัญตามลำดับ มีผลต่อทักษะการเขียนกระดานดำในส่วนที่กี่เรียงลำดับข้อความของการเน้นจุดสำคัญของครูในการเขียนกระดานดำจะทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและสามรถจำเนื้อหาสาระนั้นได้ง่ายขึ้น
                สรุปได้ว่า การศึกษาจิตวิทยาการเรียนรู้ จะทำให้ครูทราบถึงข้อที่ควรรู้และควรคำนึงบางประการที่นำมาประยุกต์ใช้การเขียนกระดานให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ตัวอย่างของความรู้ดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่ การปฏิบัติตนเป็นตัวแบบของครูนั้นมีผลต่อการเลียนแบบของนักเรียน การเขียนให้ถูกต้องตามอักขระวิธีการเขียนและการสะกด เขียนให้เป็นระเบียบและสวยงามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน และบุคคลจะจำความรู้ที่ต้องการได้ดีถ้าความรู้นั้นได้รับการจัดเข้าเป็นระเบียบหรือเสนอในรูปของความสำคัญตามลำดับ ฉะนั้น การเขียนกระดานดำต้องมีการจัดลำดับข้อความ และการเน้นจุดสำคัญ เป็นต้น

เทคนิคการใช้กระดานดำ
            เทคนิคการใช้กระดานดำมีหลายประการ เทคนิคที่สำคัญ ได้แก่
1.ก่อนใช้กระดานดำควรคำนึงถึงความสะอาด ซึ่งจะทำให้เขียนได้ชัดเจนและน่าอ่าน
2.ต้องเขียนให้หนังสือมีขนาดพอเหมาะ อ่านง่าย ชัดเจน เป็นระเบียบ ไม่ชิดกัน หรือเขียนตัวหวัดจนเกินไป
3.ควรเริ่มเขียนจากด้านซ้ายของกระดานดำไปทางขวา
4.ควรเน้นจุดสำคัญโดยการใช้ชอล์กสีหรือขีดเส้นใต้ และควรเขียนชื่อเรื่องไว้กลางกระดานดำ
5.เลือกสีของชอล์กให้เหมาะกับพื้นของกระดานดำ และการเน้นส่วนสำคัญ
6.เวลาเขียนควรกวาดสายตาให้ตรงตามบรรทัดไม่เขียนขึ้นๆ ลงๆ
7.เลือกเขียนเฉพาะหัวข้อและใจความสำคัญ ไม่ควรเขียนให้มากและแน่นจนเกินไป
8.เมื่อเขียนเสร็จจะต้องตรวจดูความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน
9.ควรเขียนกระดานโดยเอียงตัวเข้าหา จะได้ไม่ต้องบังข้อความที่เขียนไว้แล้ว
10.เมื่อจะสอนเรื่องใหม่ ควรลบข้อความเนื้อหาเดิมให้หมดเสียก่อนเพื่อให้ข้อความที่เขียนจากเนื้อหาใหม่เป็นที่น่าสนใจ
11.ใช้ภาพการ์ตูนลายเส้นประกอบการสอนจะทำให้การอธิบายของครูน่าสนใจมาก
12.ควรแบ่งกระดานดำออกเป็นส่วนๆ ตามความยาว แล้วเขียนให้หมดเป็นส่วนๆ ไป ไม่ควรเขียนตรงนั้นทีตรงนี้ที เพราะจะทำให้นักเรียนสับสน
13.เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการใช้กระดานดำด้วย เพระจะช่วยให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจ
14.การเขียนควรจับชอล์กทำมุม 45 องศากับกระดานดำ ใช้ปลายนิ้วชี้กดปลายชอล์กไว้
15.ในกรณีที่ต้องเขียนรูปทรงเรขาคณิต ควรใช้เครื่องมือช่วย จะทำให้การเขียนประณีต เรียบร้อย ชัดเจน
16.ขณะอธิบายข้อความบนกระดานดำ ครูควรชิดไปทางด้านใดด้านหนึ่งของกระดานดำให้ใช้ไม้ชี้ ไม่ควรใช้มือชี้ และไม่หันหลังให้นักเรียนขณะอธิบายประกอบ
17.การเขียนข้อความที่อยู่ด้านล่างของกระดาน ให้ย่อตัวลงไปเขียน ไม่ใช่โค้งตัวไปเขียน
18.ขณะฝึกเขียนใหม่ๆ อาจใช้ชอล์กทำเส้นประให้เป็นแนวตรง เมื่อเขียนคล่องแล้วก็ไม่ต้องใช้เส้นช่วย
19.ถ้าสอนนักเรียนที่เริ่มหัดเขียน ครูต้องเขียนคัดตัวบรรจงเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
20.ควรลบกระดานดำให้เรียบร้อยเมื่อหมดคาบเรียน และไม่ควรใช้มือลบกระดานดำ    แต่ควรใช้แปลงลบกระดาน หรือผ้า
21.การใช้กระดานดำแต่ละครั้ง ควรจะได้เตรียมการล่วงหน้าว่าจะเขียนข้อความหรือรูปอะไรบ้าง
22.ห้ามใช้คำย่อที่ครูคิดขึ้นเองและเข้าใจได้ยาก
23.อย่าใช้การเขียนกระดานดำมากเกินไป หากมีเนื้อหาที่มากและซับซ้อนควรใช้เอกสารประกอบ
24.อย่าอายหรือแสดงความไม่พอใจหากครูเขียนผิดและนักเรียนบอกการเขียนที่ถูกต้องแก่ครูในทางตรงข้ามครูควรขอบใจนักเรียน
                25. ครูควรใช้กระดานดำอย่างสม่ำเสมอ และเว้นเนื้อที่ไว้บางส่วนสำหรับ มอบหมายการบ้าน เขียนโจทย์สำหรับการฝึกฝนและการเขียนวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน เป็นต้น

ข้อคำนึงถึงในการใช้กระดานดำ
            ในการใช้กระดานดำ ครูควรคำนึงสภาพแวดล้อมในห้องเรียนด้วยเพื่อให้นักเรียนมองเห็นตัวหนังสือหรือรูปภาพบนกระดานได้ดี โดยจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.ขอบล่างของกระดานดำควรอยู่ในระดับสายตาของผู้ดู
2.ที่นั่งของผู้ดูควรอยู่ในอาณาเขต 60 องศา วัดจากกึ่งกลางของกระดาน
3.คนที่นั่งหน้าชั้นควรอยู่ห่างจากกระดาน 3 เมตร เป็นอย่างน้อย
4.มีแสงสว่างที่กระดานดำเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนมองเห็นได้อย่างชัดเจน
5.คำนึงถึงการสะท้อนแสงที่มากระทบกรดานดำ ซึ่งทำให้นักเรียนบางคนเห็นข้อความไม่ชัด อาจต้องปิดหน้าต่างหรือบานประตูบางบาน
6.เขียนกระดานดำอย่างเป็นระเบียบ เขียนตัวหนังสือให้มีหัว อ่านง่าย และชัดเจน
7.ไม่ควรเขียนกระดานดำนานเกินไป ทำให้เสียเวลา และเสียความเป็นระเบียบวินัยของห้อง
               
สิ่งครูควรปฏิบัติในการฝึกเทคนิคการเขียนกระดานดำ
            ประดินันท์ อุปรนัย (2540: 172) แนะนำถึงสิ่งที่ครูควรปฏิบัติในการฝึกเทคนิคการเขียนกระดานดำ ดังนี้
1.ศึกษาหลักการสำคัญในการเขียนกระดานดำ
2.ฝึกเขียนกระดานดำให้ถูกต้องตามหลักการที่ได้ศึกษา
3.พิจารณาดูควรเหมาะสมหรือความบกพร่องของสิ่งที่เขียน ในแง่ของช่องไฟแนวระดับ
ความชัดเจน ขนาดของตัวอักษรที่ทำให้นักเรียนเห็นได้ทั้งชั้น และลำดับของเนื้อหาที่เขียน การพิจารณานี้อาจพิจารณาด้วยตนเอง สอบถามความคิดเห็นจากเพื่อนหรือสอบถามจากนักเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่างก็ได้
4.ปรับปรุงแก้ไขเมื่อพบข้อบกพร่อง




Find more videos like this on Facultyhttp://www.youtube.com/watch?v=KeecPtvOOlE of Education คณะครุศาสตร์